วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

เหตุผลที่ควรปลูกรากเทียม

กรณีคนไข้ไม่เข้ารับการรักษาทางทันตกรรมเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปนั้น (ปลูกรากเทียม) อาจก่อให้เกิดปัญหาในช่องปากภายหลังได้ เช่น
 
     ๐ มีผลต่อการเคลื่อนที่ของฟันข้างเคียงบริเวณที่ไม่มีฟัน เช่น การเคลื่อนของฟันด้านข้างมายังช่องว่าง หรือฟันคู่สบย้อยลงหรืองอกขึ้นไปยังบริเวณช่องว่าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของฟันผุและปัญหาในช่องปากได้
     ๐ ก่อให้เกิดความลำบากในการรับประทานอาหาร อาจก่อให้เกิดปัญหาในกระเพาะอาหารหรืออาหารไม่ย่อยได้
     ๐ เสียบุคลิกภาพและการเสื่อมของกระดูกรองรับฟันอาจ ทำให้โครงหน้าเปลี่ยนรูปได้
     ๐ ริมฝีปากเสียรูป
     ๐ การออกเสียงผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อสูญเสียฟันหน้าไป

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

จุดประสงค์ของการผ่าฟันคุด

1. เพื่อป้องกันอาการปวด
เพราะตัวฟันคุดเองมีแรงผลักเพื่อจะงอกขึ้นมาในขากรรไกร แต่ถูกกันหรือติดโดยฟันข้างเคียง ทำให้มีแรงย้อนกลับไปกดที่เส้นประสาทของขากรรไกร อาการปวดมีตั้งแต่ทนได้จนกระทั่งปวดมาก ในบางครั้งอาจมีอาการปวดแบบส่งต่อหลังจากตำแหน่งฟันคุดไปยังบริเวณอื่นของใบหน้า เช่น ปวดหน้าหู ปวดตา ปวดศีรษะ เป็นต้น

2. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน
เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

3. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ
ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่

4. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก
แรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟันหรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป

5. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก
ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานอาจจะทำให้เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆ บริเวณนั้น หากไม่เคยได้รับการตรวจฟันมักจะรู้ตัวอีกทีเมื่อเห็นใบหน้าเอียงหรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง ซึ่งถ้าพบและรีบทำการผ่าตัดออกได้เร็ว โอกาสสูญเสียอวัยวะขากรรไกรจะน้อยลง ยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้าถุงน้ำหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากๆ ก็อาจต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออก การรักษารูปใบหน้าให้เหมือนเดิมก็ทำได้ยากขึ้น

6. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก
เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

7. วัตถุประสงค์อื่นๆ
เช่น ในการจัดฟัน มักต้องถอนฟันกรามซี่ที่สามออกเสียก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ และแรงดันของฟันคุดยังมากพอที่จะผลักให้ฟันข้างเคียงรับแรงกระทบต่อๆ กันไปจนฟันบิดซ้อนเกได้ ในการจัดฟันทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ถอนฟันคุดออกก่อนใส่เครื่องมือ

ขั้นตอนการจัดฟัน

ก่อนการติดเครื่องมือจัดฟัน ทันตแพทย์จะตรวจช่องปากและสภาพฟัน ในกรณีที่มีฟันผุต้องอุดฟันให้เรียบร้อยก่อน รวมถึงการขูดหินปูนด้วย เพราะตอนจัดฟันนั้นจะดูแลรักษาสุขภาพฟันได้ลำบากกว่าเดิม จากนั้นถึงดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

     1.ทันตแพทย์จะให้คุณพิมพ์ปาก และเอ็กซ์เรย์กะโหลกศีรษะและช่องปากเพื่อบันทึกการสบฟันก่อนการจัดฟันและตรวจดูลักษณะของรากฟัน กระดูกรองรับรากฟัน และลักษณะโครงสร้างใบหน้า  
     2.ทันตแพทย์จะนัดติดเครื่องมือจัดฟัน อาจจะแบ่งเป็นติดยางแยกฟัน 1 อาทิตย์ แล้วติดเครื่องมือบน อาทิตย์ต่อมาค่อยติดเครื่องมือล่าง หรือติดพร้อมๆ กัน เลย ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของทันตแพทย์คนนั้นๆ
     3.ทันตแพทย์จะนัดเพื่อปรับเครื่องมือจัดฟัน ให้ฟันค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดที่ต้องการ ส่วนใหญ่ 4-5 สัปดาห์หรือเดือนละ 1 ครั้ง
     4.ทันตแพทย์จะนัดขูดหินปูน และเคลือบฟลูออไรด์ทุกๆ 6 เดือน
     5.เมื่อจัดฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะเอาเครื่องมือออก พร้อมขัดฟันให้
     6.จัดทำรีเทนเนอร์เพื่อคงสภาพฟันที่จัดเสร็จแล้วเอาไว้ ไม่ให้มันเคลื่อนที่กลับที่เดิม
   
     ขั้นตอนต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับคุณหมอและสภาพฟันของเราว่าควรจะใช้แผนการจัดฟันแบบไหน ระยะเวลาของการจัดฟันจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น ลักษณะของการสบฟัน เนื้อที่ของขากรรไกรว่ามากน้อยเพียงใด ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ และการไปปรับเครื่องมือแต่ละเดือนตามแผนการรักษาและยังขึ้นอยู่กับอายุที่เริ่มจัดฟันด้วย การจัดฟันในผู้ใหญ่นั้นจะใช้เวลามากกว่าการจัดฟันในเด็ก และหลังการจัดเรียงฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว ยังคงต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือ รีเทนเนอร์ เพื่อบังคับให้ฟันไม่เคลื่อนที่และบังคับฟันไว้ในตำแหน่งที่ต้องการไปอีกระยะหนึ่ง โดยรอให้อวัยะที่รองรับฟัน คือ กระดูก เหงือก และกล้ามเนื้อปรับตัวเข้ากับตำแหน่งของฟัน เพื่อช่วยป้องกันการกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมของฟัน การจัดฟันจึงใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี จึงแล้วเสร็จ การจัดฟันให้ได้ผลดีนั้น ผู้จัดฟันควรให้ความร่วมมือกับทันตแพทย์ ควรไปตามนัดหรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง หากผิดนัดบ่อยอาจทำให้การรักษาจะใช้เวลานานกว่ากำหนด

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก bangrakjudfun.com , เด็นทรัลบลิสพระรามสาม และ judfun.com